วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การบริหารการจัดการในห้องเรียน

การบริหารการจัดการในห้องเรียน
การบริหารจัดการชั้นเรียน ประกอบด้วย ความคิดทั้งหมดทั้งหลายของครู การวางแผน การปฏิบัติของครูในการริเริ่มสร้างสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่าการบริหารจัดการชั้นเรียนที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างการบริหารจัดการชั้นเรียนกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และความสัมพันธ์ของทั้งสององค์ประกอบเป็นความสัมพันธ์แบบ SYNERGISTIC คือ การรวมพลังให้เกิดผลลัพธ์ที่มากขึ้น นั่นคือ ความสำเร็จของการบริหารจัดการชั้นเรียน จะมีอิทธิพลต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครู
แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารการจัดการชั้นเรียน
1. การบริหารจัดการชั้นเรียน และการเรียนการสอนเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์ ซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการชั้นเรียนไม่ใช่จุดหมายปลายทาง แต่เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบทบาทความเป็นผู้นำของครู การบริหารจัดการชั้นเรียนไม่สามารถแยกจากหน้าที่การสอน เมื่อการวางแผนการสอน ก็คือ การที่ครูกำลังวางแผนการบริหารจัดการชั้นเรียนให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้
2. เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกการบริหารจัดการชั้นเรียนกับการทำหน้าที่การจัดการเรียนการสอน รูปแบบการสอนหรือกลยุทธ์ที่ครูเลือกใช้แต่ละรูปแบบก็มีระบบการบริหารจัดการของมันเองและมีภารกิจเฉพาะของรูปแบบหรือกลยุทธ์นั้น ๆ ที่จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมทั้งของครูและนักเรียน เช่น ถ้าครูจะบรรยายก็จำเป็นที่บทเรียนจะต้องมีความตั้งใจฟัง ถ้าจะให้นักเรียนทำงานกลุ่มวิธีการก็จะแตกต่างจากการทำงานโดยลำพังของแต่ละคนอย่างน้อยที่สุดก็คือการนั่ง ดังนั้นภารกิจการสอนจึงเกี่ยวข้องทั้งปัญหาการจัดลำดับวิธีการสอน ปัญหาของการจัดการในชั้นเรียนปัญหาการจัดนักเรียนให้ปฏิบัติตามกิจกรรม ครูที่วางแผนการบริหารจัดการชั้นเรียนได้อย่างเหมาะสม ทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนและภารกิจ ก็คือ การที่ครูใช้การตัดสินใจอย่างฉลาดทั้งเวลา บรรยากาศทางกายภาพ และจิตวิทยา ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศการเรียนรู้และลดปัญหาด้านวินัยของนักเรียน
3. การบริหารชั้นเรียนเป็นความท้าทายของการเป็นครูมืออาชีพ ความสามารถของครูในการแสดงภาวะผู้นำ ด้วยการที่สามารถจะบริหารการจัดชั้นเรียนทั้งด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การบริหารจัดการบรรยากาศในห้องเรียน การดูแลพฤติกรรมด้านวินัยให้เกิดการร่วมมือในการเรียนจนเกิดการเรียนรู้ และมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร
การเตรียมตัวเพื่อการบริหารจัดการชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
มีงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารจัดการชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ Kounin, J.S. (1970), Doyle and Carter (1984), Gump (1967, 1982), Rosenshine (1980), Doyle (1986), William Glasser (1986) เป็นต้น โดยสรุปการเตรียมเพื่อการบริหารการจัดการห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ มีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ครูที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสร้างข้อกำหนดที่ชัดเจนและมีขั้นตอนการปฏิบัติที่จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ชัดเจน และจัดกิจกรรมในห้องเรียนให้ประสานสอดคล้องด้วยความระมัดระวังในระหว่างที่เกิดการเปลี่ยนคาบสอนในตอนเริ่มต้นและสุดสิ้นการสอน
2. ครูที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพจะพัฒนาระบบในการยึดเหนี่ยวนักเรียนให้รับผิดชอบการเรียนและพฤติกรรมในห้องเรียน
3. นอกเหนือจากการจะต้องมีทักษะในการวางแผนและการดำเนินการให้เกิดความสอดคล้อง ครูก็ยังคงต้องเผชิญกับความยุ่งยากลำบากหรือนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียนที่มักจะก่อกวนมากกว่าจะร่วมมือในกิจกรรมการเรียนรู้อีกด้วย
4. ครูที่สามารถบริหารจัดการให้อย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีทักษะในการเข้าไปสอดแทรกแก้ปัญหาโดยทันท่วงทีกับนักเรียนที่สร้างปัญหาและต้องดำเนินการด้วยความยุติธรรมด้วย
5. ครูที่สามารถบริหารจัดการได้ยอมรับในความสำคัญของอิทธิพลระหว่าง บุคคล คนแต่ละคนสามารถจะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่นได้ด้วยวิธีการ 5 วิธี คือ
5.1 ความสามารถในการควบคุมและให้รางวัลที่มีค่า
5.2 ความสามารถในการที่จะระงับการให้รางวัล
5.3 ความมีอำนาจโดยกฎหมาย ซึ่งเป็นทรัพย์สมบัติที่มีมาพร้อมกับตำแหน่งหน้าที่
5.4 ความเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือมีความรู้เฉพาะทาง
5.5 ความเป็นผู้มีเสน่ห์ หรือเป็นสมาชิกของกลุ่มที่มีอิทธิพล
6. ครูสามารถจะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่คาดหวังได้ด้วยการยกย่องชมเชย การให้รางวัลและการลงโทษ
7. วิธีการบริหารจัดการชั้นเรียน เป็นต้นว่า การยืนยันความถูกต้องเกี่ยวกับความประพฤติ ความคาดหวัง เมื่อครูวางแผนกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือพิจารณาว่าจะใช้พื้นที่ในห้องเรียนทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ก็คือ ครูกำลังตัดสินใจครั้งสำคัญในการพิจารณาว่าจะทำให้เกิดผลต่อระบบบริหารจัดการชั้นเรียน ในทำนองเดียวกันทุกกลยุทธ์ที่จะสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่สร้างผลผลิต เช่น การช่วยให้ชั้นเรียนพัฒนาการทำงานเป็นกลุ่ม สร้างแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และทำให้เกิดความซื่อสัตย์ จริงใจ เปิดเผย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการชั้นเรียน